เกาะเทรนด์สายเขียว “ทอม เครือโสภณ” ลุยธุรกิจกัญชง เปิดแฟรนไชส์ Hemp House ดูดนักลงทุน

26 กุมภาพันธ์ 2564

เรียกว่าเป็นเสือปืนไวเกาะเทรนด์ธุรกิจกัญชงอีกราย เมื่อ “ทอม เครือโสภณ” ขอลุยตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ จับมือ มหาวิทยาลัยขอนแก่นปลูกกัญชง 1,000 ไร่ ทำสารสกัด CBD ดึงแบรนด์ดังทำโปรดักท์ พร้อมเปิด ไลฟ์สไตล์ แฟรนไชส์ Hemp House ขายสินค้าแบบไม่ต้องง้อร้านค้าปลีกอีกด้วย

หลังกระทรวงสาธารณสุข เดินหน้านโยบายปลดล็อก “กัญชา-กัญชง” ให้เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ นำบางส่วนมาใช้ประโยชน์โดยไม่จัดเป็นยาเสพติด ส่วนหลักๆ คือ 1.ใบ (ไม่ติดกับช่อดอก) เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่ง ก้าน ราก ไม่ถือเป็นยาเสพติด 2.เมล็ดกัญชง น้ำมัน สารสกัด 3.สารสกัดแคนนาบิไดออล (CBD) และสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (THC) ไม่เกิน 0.2% (ส่วนของช่อดอกกัญชาและกัญชง รวมทั้งเมล็ดกัญชา ยังไม่ปลดล็อกจากยาเสพติด)

สาระสำคัญของ “กัญชง” ที่มีสารเมาน้อยกว่ากัญชา และได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการธุรกิจ และเป็นกระแสมาต่อเนื่อง เมื่อ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกประกาศเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564 เปิดให้ผู้สนใจเข้ามาขออนุญาตปลูกและผลิตสินค้าที่มีส่วนผสมกัญชง เพื่อจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้

โดยผู้สนใจทุกกลุ่มสามารถขอปลูกกัญชงในพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อทำเชิงการค้าได้ ส่วนสินค้าเครื่องดื่มและอาหารอาหารเสริม เครื่องสำอาง ฯลฯ จะทยอยออกกฎหมายมารองรับภายใน 4 เดือน ซึ่งจะอยู่ในช่วงพฤษภาคม 2564 เรียกว่าถนนทุกสายตอนนี้วิ่งหากัญชง หวังเป็นสินค้า “ดาวรุ่ง” สร้างรายได้

จับมือม.ขอนแก่นปลูกกัญชง 1,000 ไร่

คุณจุลภาส (ทอม) เครือโสภณ ผู้ก่อตั้ง บริษัท Golden Triangle Health จำกัด (GTH) กล่าวว่าจากประสบการณ์จัดจำหน่ายสินค้าให้กับร้านค้าปลีกในต่างประเทศ ที่เปิดให้ทำตลาดเชิงพาณิชย์กับสินค้ากัญชงมาก่อน ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้บริโภคอย่างมาก จึงเห็นโอกาสทำตลาดกัญชง ในประเทศไทย ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

โดยได้เซ็น MOU กับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งจะทำหน้าที่ปลูกกัญชงราว 1,000 ไร่ โรงงานสกัดสาร CBD เพื่อนำมาใช้เป็นส่วนผสมในสินค้าต่างๆ โดยร่วมกับพันธมิตรคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ทำจากกัญชงออกมาใช้ในการรักษาสุขภาพ เพิ่มความผ่อนคลาย ส่งเสริมให้การนอนหลับ การปลูกกัญชงแต่ละครั้งจะใช้เวลาราว 3-4 เดือน จากนั้นเข้าโรงงานสกัดออกมาเป็นสารสกัด CBD และ THC

แผนธุรกิจของ GTH ได้พัฒนาสินค้ากัญชงมีทั้งแบรนด์ของบริษัทเอง เบื้องต้น 3 แบรนด์ คือ TOM , KinChaKan และ ช่อผกา เป็นกลุ่มอาหารคาว ขนมหวาน ไอศกรีม ช็อกโกแลต โดยร่วมกับพันธมิตรผลิตสินค้าให้ เริ่มจากการใช้ สารเทอร์ปีน (Terpenes) เป็นสารให้กลิ่นและรสชาติกัญชง ที่สามารถทำได้แล้วเนื่องจากเป็นสารให้กลิ่นและรสเท่านั้น (ไม่ใช่สารสกัด CBD)

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มพาร์ทเนอร์ แบรนด์ ซึ่งเป็นแบรนด์ดังในตลาด จะมาร่วมผลิตสินค้าเริ่มจากกลิ่นกัญชงและสารสกัดกัญชง (ซึ่งจะเกิดขึ้นในอนาคตหลังจากเริ่มมีผลผลิตจากการปลูกและสารสกัด และขออนุญาตผลิตอ้างอิงตามกฎหมาย อย.) ประกอบด้วย Smooth E สเปรย์ปรับอากาศกัญชง Dentiste ยาสีฟันและเมาท์สเปรย์กัญชง Bertram (เจ้าของแบรนด์เซียงเพียวอิ๊ว) ออกแบรนด์ใหม่ยาดม Urban Mint ส่วนผสมกัญชง Divana กลุ่มผลิตภัณฑ์สปากัญชง NRF ผลิตภัณฑ์ซอสพริกกัญชง เถ้าแก่น้อย สแน็คสาหร่ายกัญชง

ด้านช่องทางการจำหน่ายสินค้ากัญชง ขณะนี้เป็นเรื่องใหม่ ช่องทางค้าปลีกต่างๆ อาจยังมีความกังวลในการทำตลาด บริษัทจึงเปิดช่องทางขายของตัวเองในรูปแบบแฟรนไชส์ Hemp House โดยคาดว่าการทำธุรกิจกัญชงจะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค สามารถครองตลาดกัญชงในไทยได้ วางเป้าหมายรายได้ปีแรกไว้ที่ 500 ล้านบาท

ปั้นแฟรนไชส์ Hemp House ดูดนักลงทุน

คุณณัฏฐิฏา ภูมิภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Golden Triangle Health จำกัด กล่าวว่า Hemp House เป็นไลฟ์สไตล์ แฟรนไชส์ มี 2 ฟอร์แมท คือ ค่าแฟรนไชส์ 2 แสนบาท และ 3 แสนบาท ขนาด 10 ตารางเมตรขึ้นไป เน้นทำเลอาคารสำนักงาน แหล่งชุมชนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดหัวเมืองใหญ่ ประเมินรายได้แฟรนไชส์ 1 แสนบาทต่อเดือน และคืนทุนใน 6 เดือน

โดยบริษัทจะสนับสนุนการตลาด 360 องศา ทั้งการตลาดออฟไลน์และออนไลน์ ให้คำปรึกษาการทำตลาด และทำการตลาดร่วมกับพันธมิตร เช่น AIS จะเข้ามาร่วมโปรโมทสินค้าสำหรับกลุ่มลูกค้าเซเรเนด ที่ปัจจุบันมีกว่า 5-10 ล้านคน

นอกจากนี้สนับสนุนสินค้าที่เกี่ยวกับกัญชงเพื่อนำไปจำหน่ายในร้านแฟรนไชส์ ทั้งแบรนด์ของ GTH และกลุ่มสินค้าพาร์ทเนอร์ แบรนด์ ที่จะมีเพิ่มเข้ามาต่อเนื่อง เพราะบริษัททำธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ผลิตออกมาเป็นสินค้าสำเร็จรูป

“ต้องบอกว่าเราถือเป็น First Mover ในธุรกิจกัญชง ที่ทำตั้งแต่การผลิตสินค้าถึงช่องทางจำหน่ายผ่านแฟรนไชส์”

อัพเดทธุรกิจกัญชา-กัญชง วันนี้ทำอะไรได้บ้าง

เนื่องจาก “กัญชง” เป็นพืชที่มีสรรพคุณช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลาย สดชื่น ให้นอนหลับสบาย จึงทำให้ได้รับความสนใจและเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้บริโภค อย่างไรก็ตามหลายคนมักเข้าใจผิดคิดว่าต้น “กัญชง” ก็คือ “กัญชา” แต่ความจริงแล้วกัญชงแค่มีลักษณะคล้ายคลึงกับต้นกัญชาในด้านลักษณะทางพฤกษศาสตร์ แต่ไม่ใช่พืชที่เป็นสารเสพติดเหมือนกัญชา เพราะมีสาร THC (สารเมา) ในปริมาณน้อยกว่ามากจึงไม่มีผลทำให้เกิดมึนเมาหรือเสพติด แต่มีประโยชน์ในด้านการแพทย์และอื่น ๆ เช่น ต้นกัญชงเป็นพืชที่สามารถนำมาแปรรูปทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้

ถึงวันนี้ “กัญชา-กัญชง” ทำอะไรได้บ้างหลังจากปลดล็อกบางส่วนไม่จัดเป็นยาเสพติด มาอัพเดทข้อมูลกับ ภญ. สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

โดยเริ่มจาก สารเทอร์ปีน (Terpenes) เป็นสารที่ให้กลิ่นและรสชาติ จัดเป็นสารเคมีจากสารสังเคราะห์ สกัดจากพืชหลายอย่างทั้ง กัญชา กัญชง และพืชอื่นๆ สารนี้ อย.อนุญาตให้ใช้อยู่แล้วเพราะเป็นสารสังเคราะห์ที่ให้กลิ่นและรสชาติประเภทหนึ่ง แต่หากแสดงฉลากและโฆษณาว่าเป็นสารเทอร์ปีนจากกัญชา-กัญชง ก็ต้องสกัดจากพืชกัญชา-กัญชงจริง แต่ไม่ใช่มาจากพืชอื่น เพื่อไม่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด

หากจะดูความแตกต่างของ “กัญชากับกัญชง” ซึ่งมาจากพืชตระกูลเดียวกัน Cannabis แต่ทางกฎหมายได้แยกกันที่ค่า THC (สารเมา) ถ้าเกิน 1% เป็นกัญชา และน้อยกว่า 1% เป็นกัญชง

เนื่องจาก “กัญชา” มีสาร THC สูง กฎหมายจึงให้ใช้เฉพาะการแพทย์และการวิจัยด้านการศึกษา ดังนั้นผู้ที่ขออนุญาตปลูกและใช้งานจึงเป็นหน่วยงานด้านการแพทย์ การศึกษา วิสาหกิจชุมชน

ส่วน “กัญชง” มีสาร THC ต่ำ จึงเปิดให้ทุกคน มาขออนุญาตใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้ ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2564

โดยมีกฎหมายปลดล็อกแต่ละส่วนของ “กัญชา” ซึ่งมีสาร THC ไม่เท่ากัน ส่วนที่มี THC สูงสุดคือ ช่อดอก (ยังไม่ปลดล็อกจัดเป็นสารเสพติด) ดังนั้นเมื่อปลูกกัญชา ส่วนที่ยังเป็นยาเสพติด คือ ช่อดอกกับเมล็ดกัญชา เมื่อปลูกแล้วได้ผลผลิต 2 ส่วนนี้ออกมาก็จะต้องส่งไปให้ใช้ทางการแพทย์ ไม่สามารถทำมาใช้เชิงพาณิชย์ได้ ส่วนใบ กิ่ง ก้าน ราก ที่มีสาร THC ต่ำไม่เป็นยาเสพติดให้โทษ สามารถขายส่วนนี้ไปยังบุคคลอื่นเพื่อใช้ประโยชน์ได้

ส่วน “กัญชง” เมื่อปลูกได้ผลผลิตแล้ว ส่วนที่ไม่เป็นยาเสพติด คือ กิ่ง ก้าน ราก ใบ เมล็ด ไม่ถือเป็นยาเสพติด (ยกเว้นช่อดอก)

กรณีการใช้ประโยชน์ หากบุคคลธรรมดาหรือร้านค้า ไปซื้อใบกัญชา-กัญชง ที่ไม่เป็นยาเสพติด จากสถานที่ที่ได้รับอนุญาตปลูกถูกต้องตามกฎหมาย และมาประกอบอาหารในบ้านเพื่อรับประทานเอง หรือจำหน่าย สามารถทำได้เลย เพราะไม่ใช่ยาเสพติด ไม่ต้องมาขออนุญาต อย. เพราะถือเป็นหนึ่งของวัตถุดิบปรุงอาหารและเครื่องดื่ม

แต่หากนำสารสกัดกัญชา-กัญชง ที่ไม่เป็นยาเสพติด ไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ (Finished Product) เพื่อจำหน่าย ที่ต้องผ่านการขอ “เลขจดแจ้ง” จาก อย. ก็ต้องมาขออนุญาต ตามประเภทสินค้า เช่น เครื่องสำอาง อาหาร เครื่องดื่ม เพื่อขอตามเงื่อนไขของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ซึ่ง อย.กำลังทยอยทำประกาศปลดล็อกการนำส่วนต่างๆ ของพืชกัญชา-กัญชง ไปใช้ประโยชน์ โดยจะทยอยออกมาในเดือนมีนาคม-เมษายน 2564

ปัจจุบันการขออนุญาตปลูกกัญชง มีหลายสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตต่างกัน เช่น พันธุ์ที่ให้ช่อดอกสกัด CBD เมล็ดสกัดสาร THC ลำต้นทำเส้นใยเครื่องนุ่งห่ม

การมาขออนุญาตใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ อย.จะดูตามแผนงานตลอดเส้นทาง ตั้งแต่ขออนุญาตนำเข้าเมล็ดพันธุ์ การปลูก การทำสารสกัด และการขายสารสกัด ต้องชัดเจนว่าปลูกแล้วสกัดที่ไหนขายให้ใคร หากมีแผนชัดเจนก็จะได้รับการพิจารณาอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีผู้สนใจมาขอรับคำปรึกษาการใช้ประโยชน์จากกัญชงวันละ 2,000-3,000 คน

เชื่อว่าการใช้ประโยชน์จากพืชกัญชง เป็นเทรนด์ที่หลายประเทศสนใจ และไทยมีโอกาสเป็นฐานในการปลูกและสกัดสารกัญชง เพื่อนำไปขายให้ประเทศต่างๆ ในเอเชีย รวมทั้งกระแส Finished Product ยังแรงต่อเนื่องในช่วง 5-6 ปี กัญชงเป็นสินค้าที่สร้างความได้เปรียบและขายได้ทั่วโลกไม่ใช่แค่ประเทศไทย

Source: https://www.brandbuffet.in.th/2021/02/tom-kruesopon-launch-hemp-business/