เปิดข้อมูล 5 SDGs พลิกวิกฤตโควิด-19 สู่ความยั่งยืน
ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ที่ยังคงแพร่กระจายไปในหลายภูมิภาคทั่วโลก องค์กรธุรกิจต่างตกอยู่ในความยากลำบากและพยายามแก้ไขปัญหาเต็มกำลัง ทำไมบางแห่งเริ่มสั่นคลอน ขณะที่บางแห่งยังมั่นคงอยู่ได้ อะไรคือปัจจัยที่ทำให้ผลลัพธ์แตกต่างกัน หรือวิกฤตจะเป็นบททดสอบเพื่อคัดเลือกองค์กรที่มีศักยภาพพอจะอยู่รอดในสถานการณ์แห่งความเปลี่ยนแปลง
ทั้งนั้น เพื่อเปิดมุมมองให้ภาคธุรกิจพลิกวิกฤตครั้งนี้เป็นโอกาส จึงมีการใช้กลยุทธ์ความยั่งยืนพลิกฟื้นธุรกิจและ “เร่งเครื่อง” สู่การเป็นผู้นำ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย หรือ GCNT จึงเปิดข้อมูล “5 SDGs Mega Trends 2021” เป็นปีที่ 2 โดยชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มสำคัญด้านความยั่งยืนที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก และแนวทางในการปรับตัวขององค์กรธุรกิจในช่วงเวลาของการฟื้นตัวจากโควิด-19 รวมทั้งประเด็นที่ต้องการการตอบสนองอย่างเร่งด่วน
ซึ่งธุรกิจสามารถนำไปพิจารณาและปรับการดำเนินงานไปสู่องค์กรที่ยั่งยืนและเป็นส่วนสำคัญในการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ในมิติที่แตกต่างกันออกไปได้
“ศุภชัย เจียรวนนท์” นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ได้เปิดมุมมองเชิญชวนภาคธุรกิจให้ตั้งคำถามกับตนเองว่า เมื่อเห็นทั้งแนวโน้มและปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นรอบตัวเราแล้ว “ทำไมเราไม่ลงมือทำ” และลุกขึ้นมาพัฒนาองค์กรให้เป็น “ผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง” แล้วมองวิกฤตโควิด-19 เป็นโอกาสแห่งการลงมือทำอย่างจริงจัง
โดยใช้ศักยภาพของภาคธุรกิจที่ได้เปรียบในเชิงความต่อเนื่องของนโยบายและความแข็งแกร่งในการบริหารจัดการมาร่วมแก้ไขปัญหาสังคมในระดับโลก เพื่อร่วมกันสร้างแบบแผนการดำเนินชีวิตวิถีใหม่ที่ทำให้มนุษยชาติเติบโต ดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพดีกว่าเดิม สมดุลกว่าเดิม บนต้นทุนเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่น้อยลง
เฉกเช่นเดียวกับ “กีตา ซับบระวาล” ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย ในฐานะที่สหประชาชาติเป็นหน่วยงานหลักอีกหน่วยงานหนึ่งที่ขับเคลื่อน SDGs ที่ได้ให้ความสำคัญกับบทบาทของภาคเอกชนเช่นกัน โดยมองว่าภาคเอกชนเป็นแกนกลางในการทำให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนกลายเป็นจริง โดยสามารถแสวงหาทางออกอย่างมีนวัตกรรมให้กับปัญหาด้านการพัฒนาในปัจจุบัน
และสิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญก็คือ การพิทักษ์โลกและลดความเหลื่อมล้ำไปด้วยกัน เพื่อร่วมมือกันสร้างโลกที่น่าอยู่ขึ้นกว่าเดิม สำหรับ 5 แนวโน้มสำคัญเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนประจำปี 2564 มีดังนี้
1) โอกาสในวิกฤตของธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (business and human right : opportunity in crisis) สถานการณ์โควิด-19
ส่งผลกระทบโดยตรงต่อแรงงานที่ต้องเผชิญความเสี่ยงที่สูงขึ้น ขาดความมั่นคงทางการเงินและอำนาจต่อรอง ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวยมากขึ้นอีก สิ่งที่องค์กรธุรกิจจำเป็นต้องทำประการแรกคือ การเคารพสิทธิมนุษยชน
ตามกฎหมายขั้นพื้นฐาน การดำเนินมาตรการปกป้องแรงงาน ครอบคลุมถึงแรงงานในห่วงโซ่อุปทานโดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ จำเป็นต้องทบทวนโมเดลธุรกิจของตัวเองและบริหารจัดการการมีส่วนร่วมในระดับโลกให้ดีขึ้นด้วย
2) นวัตกรรมเกี่ยวกับสุขภาพจะเป็นตัวช่วยในความปกติใหม่ (Innovation for health will be impactful in the new normal) ในยุคโควิด-19 เรื่องของนวัตกรรมทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ซึ่งหากธุรกิจไม่ให้ความสำคัญและปรับตัวเพื่อสร้างนวัตกรรม จะมีความเป็นไปได้สูงที่บริษัทจะสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันด้วยความตระหนักและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
โอกาสในวันนี้จึงเป็นของภาคธุรกิจที่สามารถพัฒนานวัตกรรมได้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์สถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะนวัตกรรมที่มีประเด็นด้าน “สุขภาพและความปลอดภัย” เป็นตัวตั้ง
3) โควิด-19 กระตุ้นการเงินและการลงทุนที่ยั่งยืน (COVID-19 accelerates ESG trends) แม้การลงทุนในภาพรวมจะชะลอตัว แต่บริษัทที่สามารถระบุประเด็นที่มีความสำคัญต่อความยั่งยืนของบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพจะส่งผลต่อศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่จะโดดเด่น และการลงทุนที่คำนึงถึงความยั่งยืน สามารถให้ผลตอบแทนในรูปแบบของตัวเงินกลับมาสู่นักลงทุนได้
ซึ่งบริษัทที่คำนึงถึงปัจจัยทางด้านสังคมและมีการกำกับดูแลกิจการที่ดีจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าบริษัทที่ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องดังกล่าว
4) การฟื้นตัวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (green recovery) การหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นผลบวกต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) โดยในปีนี้เป็นช่วงเวลาสำคัญของการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ซึ่งทุกประเทศ ทุกเมือง รวมถึงสถาบันการเงินจะต้องดำเนินการตามแผนเพื่อปล่อยก๊าซคาร์บอนเท่ากับศูนย์ภายในปี 2050
จึงเป็นโอกาสของธุรกิจที่จะพลิกฟื้นกิจการด้วยความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะได้ประโยชน์จากมาตรการลดหย่อนภาษีจากภาครัฐ สำหรับโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตต่อไปอย่างยั่งยืน
5) ความท้าทายที่มากขึ้นในการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน (challenges for the circular economy) สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของขยะพลาสติกปริมาณมากในเวลาเดียวกัน แต่อัตราการนำทรัพยากรกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่กับอัตราลดลง ภาคธุรกิจสามารถสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ในหลายด้าน การสร้างนวัตกรรมใหม่ที่สามารถนำทรัพยากรกลับมาใช้ จนถึงความร่วมมือกับภาครัฐในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการเก็บขยะพลาสติก การพัฒนาตลาด secondary markets เพื่อนำของเสียกลับมาใช้ใหม่
นอกจากข้อมูล 5 SDGs Mega Trends 2021 รายงานปีนี้ยังได้นำเสนอตัวอย่างวิถีคิดของผู้นำและแนวปฏิบัติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์กรธุรกิจชั้นนำ ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทยที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยและของโลก
ได้แก่ เอสซีจี “SCG” กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน การลงทุนอย่างรับผิดชอบเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนของ “บ้านปู” (BANPU) “เครือเจริญโภคภัณฑ์” (CPG) กับการตั้งเป้าหมาย zero carbon footprint และ zero waste การร่วมมือกับพันธมิตรขยายผลเศรษฐกิจหมุนเวียน
ด้วยแนวคิด “มีทางออกให้กับทุกคน” ของ “จีซี” (GC) และวิสัยทัศน์ “อาหารแห่งอนาคต” (plant-based food) ของเอ็นอาร์เอฟ (NRF) รวมทั้งทิศทางการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
“รื่นวดี สุวรรณมงคล” เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าวทิ้งท้ายถึงเรื่องนี้ว่า “ก.ล.ต.จะร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเน้นบทบาทของคณะกรรมการและผู้บริหารระดับสูงในฐานะผู้นําบริษัท (tone from the top) ควบคู่ไปกับการผลักดันให้ผู้ลงทุนให้ความสำคัญกับการลงทุนในหุ้นของบริษัทหรือผลิตภัณฑ์การเงินที่ออกโดยบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ และผนวก ESG ในกระบวนการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างห่วงโซ่คุณค่าของระบบนิเวศในตลาดทุนอย่างยั่งยืน
“การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนจะช่วยขับเคลื่อนให้ตลาดทุนไทยเป็นกลไกสนับสนุนให้กิจการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบและเป็นที่ยอมรับในเวทีโลก อันนำไปสู่การเสริมสร้างให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน โดยที่ผ่านมา ก.ล.ต.มีบทบาทแข็งขันในการส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนนำแนวทางการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน รวมถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ไปผนวกเป็นยุทธศาสตร์ทางธุรกิจด้วย”
องค์กรธุรกิจและผู้สนใจการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนสามารถดาวน์โหลด “5 SDGs Mega Trends 2021” ได้ที่ https://globalcompact-th.com/sdgs/megatrend/2021 และติดตามความรู้ใหม่ ๆ ด้านความยั่งยืนเพิ่มเติมได้ทาง https://www.globalcompact-th.com/